วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาพยนตร์
ภาพยนตร์เป็นกระบวนการบันทึกภาพด้วยฟิล์ม แล้วนำออกฉายในลักษณะที่แสดงให้เห็นภาพเคลื่อนไหว(Motion Picture) ภาพที่ปรากฏบนฟิล์มภาพนยตร์หลังจากผ่านกระบวนการถ่ายทำแล้วเป็นเพียงภาพนิ่งจำนวนมาก ที่มีอริยาบทหรือแสดงอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยต่อเนื่องกันเป็นช่วงๆ ตามเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทำและตัดต่อมา ซึ่งอาจเป็นเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการแสดงให้เหมือนจริง หรืออาจเป็นการแสดงและสร้างภาพจากจินตนาการของผู้สร้างก็ได้ ด้วยคุณลักษณะพิเศษของภาพยนตร์ที่สามารถแสดงให้เห็นภาพและเสียงอันน่าสนใจ ภาพยนตร์จึงเป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทและอิทธิพลในด้านต่างๆ เป็นอย่างสูงมาตลอดเวลานับร้อยปี จนปัจจุบันแม้จะมีสื่อประเภทอื่นเกิดขึ้นมากแล้ว แต่ภาพยนตร์ก็ยังอยู่ในความนิยม และได้รับการพัฒนาให้มีบทบาทสำคัญอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกิจการด้านธุรกิจการบันเทิง และยังมีคุณค่าอย่างสูงสำหรับการศึกษา เนื่องจากภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีคุณลักษณะพิเศษ สามารถทำให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้ง

ประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์
กำเนิดภาพยนตร์ของโลก
ภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของภาพยนตร์ในปัจจุบันคิดประดิษฐ์ขึ้นโดย โทมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Adison) และผู้ร่วมงานของเขาชื่อ วิลเลียม เคนเนดี้ ดิคสัน (William kenady dickson) เมื่อ พ.ศ. 2432 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกชื่อว่า "คิเนโตสโคป" (Kinetoscope) มีลักษณะเป็นตู้สูงประมาณ 4 ฟุต มักเรียกชื่อว่า "ถ้ำมอง" เพราะต้องดูผ่านช่องเล็กๆ ดูได้ที่ละคน ภายในมีฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งถ่ายด้วยกล้องคิเนโตกราฟ (Kenetograph) ที่เอดิสันประดิษฐ์ขึ้นเอง ฟิล์มยาวประมาณ 50 ฟุต วางพาดไปมา เคลื่อนที่เป็นวงรอบ ผ่านช่องที่มีแว่นขยายกับหลอดไฟฟ้าด้วยความเร็ว 48 ภาพต่อวินาที ต่อมาลดลงเหลือ 16 ภาพต่อวินาที พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นคนไทยพระองค์แรกที่ได้ชมภาพยนตร์แบบนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้นำมาถวายให้ทอดพระเนตรเมื่อคราวเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ในปี พ.ศ. 2439
ต่อมาพี่น้องตระกูลลูมิแอร์ (Lumiere) ชาวฝรั่งเศสได้พัฒนาภาพยนตร์ถ้ำมองของเอดิสันให้สามารถฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ สำหรับดูพร้อมกันหลายคน เรียกเครื่องฉายภาพยนตร์แบบนี้ว่า แบบ "ซีเนมาโตกราฟ" (Cinimatograph) นำออกมาฉายตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2439 เป็นต้นมา ซึ่งคำว่า "ซีเนมา" (Cenema)ได้ใช้เรียกเกี่ยวกับภาพยนตร์มาถึงปัจจุบัน
ภาพยนตร์ที่สามารถฉายภาพให้ปรากฏบนจอขนาดใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์พัฒนาขึ้นในอเมริกาในปี พ.ศ. 2438 โดยความร่วมมือระหว่างโทมัส อาแมท (Thomas Armat) ซีฟรานซิส เจนกินส์ (C. Francis Jenkins) และเอดิสัน เรียกเครื่องฉายภาพยนตร์ชนิดนี้ว่า ไบโอกราฟ (Bioghraph) ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นภาพยนตร์ได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกิดอุตสาหกรรมการผลิตจำหน่ายและบริการฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกา ภาพยนตร์ได้กลายเป็นสื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ ศิลปการบันเทิงและวรรณกรรมต่างๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางตลอดมา
พ.ศ. 2440 พระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 5 เสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งในครั้งนั้นได้มีช่างภาพของบริษัทลูมิแอร์ ประเทศฝรั่งเศส บันทึกภาพยนตร์การเสด็จถึงกรุงเบอร์นของพระเจ้ากรุงสยามไว้ 1 ม้วน ใช้เวลาประมาณ 1 นาที นับว่าเป็นการถ่ายภาพยนตร์ม้วนแรกของโลกที่บันทึกเกี่ยวกับชนชาติไทย (โดม สุขวงศ์ 2533 : 2-3, เยาวนันท์ เชฏฐรัตน์ 2529 : 6-20 )


ภาพยนตร์ในประเทศไทย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 เป็นต้นมาได้มีคณะฉายภาพยนตร์เร่จากประเทศต่างๆ เข้ามาจัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธารณชนชาวสยามเรื่อยมา โดยจัดฉายตามวัดบ้าง โรงแรม โรงละครบ้าง ต่อมาชาวญี่ปุ่นได้ตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นบริเวณวัดชัยชนะสงคาม (วัดตึก) จัดฉายภาพยนตร์เป็นประจำทุกวัน คนนิยมดูกันมากจนชาวไทยเรียกกันติดปากว่า "หนังญี่ปุ่น" เป็นเหตุให้นักธุรกิจชาวไทยจัดตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นมาอีกหลายโรง ภาพยนตร์ในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์เบ็ดเตล็ด สั้นๆ เช่น ข่าว สารคดี สถานที่สำคัญ การแสดงละครหรือจินตลีลาสั้นๆ
พ.ศ. 2453 บริษัทผลิตภาพยนตร์จากอเมริกาได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม
พ.ศ. 2465 สมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว ขึ้นในกรมรถไฟหลวง เพื่อผลิตภาพยนตร์ ข่าวสาร สารคดีและเผยแพร่กิจกรรมของกรมรถไฟ ตลอดจนกิจการของกระทรวงทบวงกรมอื่น และยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้เอกชนอีกด้วย
พ.ศ.2466 ได้มีคณะผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด สหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามาสร้างภาพยนตร์บันเทิง โดยใช้ผู้แสดงเป็นคนไทยเป็นครั้งแรก ชื่อเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" เป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาวในสมัยนั้น และยังแสดงให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนสภาพบ้านเมือง วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยวชายทะเล ทรัพยากรป่าไม้ในภาคเหนืออีกด้วย ต่อมา พ.ศ. 2468 ได้มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์ จากฮอลลีวู้ดอีกคณะหนึ่งเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง "ช้าง"
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทยนำออกฉายในปี พ.ศ. 2470 ชื่อเรื่อง "โชคสองชั้น" สร้างโดยพี่น้องตระกูลวสุวัต แห่งบริษัทกรุงเทพภาพยนตร์ และเรื่อง "ไม่คิดเลย" ของบริษัท ถ่ายภาพยนตร์ไทย ซึ่งสร้างสำเร็จเป็นเรื่องที่ 2


เมื่อกิจกรรมภาพยนตร์แพร่หลาย และมีบทบาทในฐานะเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลสูงเข้าถึงผู้ชมทุกชนชั้น แม้คนไม่รู้หนังสือ ทางราชการโดยรัฐบาลในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จึงได้ออกกฏ-หมายควบคุมตรวจพิจารณาภาพยนตร์ คือ พ.ร.บ. ภาพยนตร์พุทธศักราช 2473 ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และจัดตั้งบริษัทสหศินิมาจำกัดขึ้น สำหรับเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจด้านภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2475
กิจการภาพยนตร์ได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต แต่ก็มีการสร้างภาพยตร์ออกมาอยู่บ้าง ที่สำคัญคือ ภาพยนตร์ เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรก เรื่องเดียว ที่นำออกฉายพร้อมกันทั้งในกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และนิวยอร์ค ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 จัดสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ไทยเป็นชาติรักสันติไม่เคยคิดรุกรานเพื่อนบ้าน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ. 2488 กิจการภาพยนตร์ของโลกและของไทยกลับฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการสร้างภาพยนตร์เสียงและภาพยนตร์สีธรรมชาติด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. อย่างแพร่หลาย จนกระทั้งประมาณ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ถือว่าป็นยุคทองของกิจการภาพยนตร์ไทย มีการสร้างภาพยนตร์โดยบริษัทคนไทยซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ผลิตภาพยนตร์ออกฉายทั่วประเทศรวมกันปีละเกือบร้อยเรื่องและเกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างหนึ่งคือ การผูกขาดความนิยมในตัวผู้แสดง คู่พระคู่นางที่สำคัญคือ มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราชฎร์ เกือบครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ในยุคนั้นใช้ผู้แสดงคู่นี้ ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ฉายในกรุงเทพฯ นานติดต่อกันถึง 6 เดือนทำรายได้สูงถึง 9 ล้านบาท ได้แก่เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง"


หลังจาก มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการแสดงภาพยนตร์ กิจการภาพยนตร์ไทยได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน 35 ม.ม. มีนักแสดงที่มีชื่อเสียงเกิดชึ้นในยุคหลังจำนวนมาก กิจการภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูอยู่ได้ระยะหนึ่ง จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2524 ได้เกิดการขยายตัวของกิจการวิทยุโทรทัศน์และการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ประกอบการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ของแถบบันทึกภาพ (Video Tape) ทำให้การผลิตภาพยนตร์ลดลง โรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 700 โรง หลายโรงต้องเลิกกิจการไป คนในวงการภาพยนตร์ส่วนหนึ่งหันไปทำงานด้านโทรทัศน์แทน ปัจจุบันคงเหลือบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่สำคัญอยู่เพียง 4 รายใหญ่ คือ ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น สหมงคลฟิล์ม เอแพ็กซ์โปรดักชั่น และพูนทรัพย์ฟิล์ม (โดม สุขวงศ์ 2533 : 47-56)

คุณลักษณะพิเศษของภาพยนตร์
ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปย่อมจะทราบอย่างดี จากภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ และจากการโฆษณาภาพยนตร์ ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องกว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้ ต้องอาศัยเทคนิค ความรู้ความสามารถและเงินลงทุนอย่างสูง แม้ภาพยนตร์เรื่องที่ถือว่าสร้างได้ง่ายๆ ก็ต้องลงทุนนับล้านบาทขึ้นไปสำหรับการสร้างภาพยนตร์ในปัจจุบัน แต่หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ฉากและการแสดงที่ยุ่งยาก มีเทคนิคพิศดารต่างๆ มาประกอบ การสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จะต้องลงทุนเป็นเงินนับร้อยล้านบาททีเดียว ซึ่งนั่นหมายถึงความพยายามอย่างสูงยิ่งของคนกลุ่มหนึ่งที่จะถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ ศิลป ความสามรถ ความรู้สึกนึกคิดของตนไปสู่สาธารณชน โดยอาศัยภาพยนตร์เป็นสื่อ ไม่ว่าฝ่ายผู้สร้างภาพยนตร์จะมีวัตถุประสงค์ในการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องไปในแนวทางใด ก็มักจะบรรลุจุดประสงค์ตามความต้องการของผู้สร้างเสมอ โดยเฉพาะจุดประสงค์ด้านการขายความบันเทิง ดังนั้นหากใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อสำหรับการศึกษา ก็น่าเชื่อว่าภาพยนตร์จะสามารถถ่ายทอดความรู้ความคิดที่เป็นประโยชน์ไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
ภาพยนตร์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้ชมเข้าใจ หรือเกิดความซาบซึ้งได้ดีกว่าสื่อประเภทอื่น เนื่องจากภาพยนตร์เป็นสื่อที่ลักษณะพิเศษบางประการ ซึ่งเกิดจากปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง คือคุณสมบัติทางกายภาพของภาพยนตร์ การใช้เงินลงทุนสูง ในการสร้างภาพยนตร์ใช้การแสดงที่สมจริง
สามารถใช้เทคนิคพิเศษในการสร้างภาพเหมือนจริงมีคุณสมบัติในการสร้างจินตนาการ
1. คุณลักษณะทางกายภาพ
ได้แก่คุณสมบัติทางด้านภาพและเสียงของภาพยนตร์ที่ดีเด่นกว่าสื่อประเภทอื่นๆ ทำให้ภาพยนตร์สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงต่างๆ ออกมาให้ศึกษาเข้าใจได้อย่างดีเยี่ยม คุณลักษณะทางกายภาพด้านต่างๆ ของภาพยนตร์ได้แก่
1.1 เป็นภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ เช่น ให้เคลื่อนไวเร็วกว่าที่เป็นจริง ให้เคลื่อนไหวตามความเป็นจริงหรืออาจทำให้เคลื่อนไหวช้ากว่าที่เป็นจริงก็ได้
1.2 คุณภาพของสี ฟิล์มภาพยนตร์สามารถถ่ายทอดสีออกมาได้อย่างสมบูรณ์ตามความเป็นจริง และสามารถดัดแปลงแต่งเติมสีของภาพได้ตามต้องการ
1.3 ความคมชัด เนื่องจากภาพยนตร์ทั่วไปใช้ฟิล์มขนาดใหญ่ คุณภาพสูงประกอบกับคุณภาพของอุปกรณ์ในการถ่ายภาพและฉายภาพทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูงซึ่งภาพจากระบบโทรทัศน์ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้
1.4 ขนาดของภาพ สามารถทำให้มีขนาดใหญ่ได้ตามต้องการ ภาพยนตร์ทั่วไปซึ่งใช้ฟิล์มขนาด 35 ม.ม. ถ่ายและฉายด้วยระบบจอกว้างต่างๆ ก็สามารถฉายให้ภาพขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการชมโดยทั่วไป แต่หากต้องการให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ก็สามารถทำได้โดยใช้ฟิล์มถ่ายและฉายในระบบ 65/70 ม.ม.
1.5 ระบบเสียงภาพยนตร์ ซึ่งสามารถใช้ระบบเสียงธรรมดา หรืออาจใช้ระบบเสียงแบบพิเศษสำหรับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ทำให้ได้เสียงที่น่าตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น หลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบการสร้างภาพของภาพยนตร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ระบบเสียงเปลี่ยนแปลงไปมาก และใช้ระบบเสียงแบบใหม่ที่ดีกว่า เป็นสิ่งจูงใจผู้ชม

2. การลงทุนสำหรับภาพยนตร์
การสร้างภาพยนตร์โดยทั่วไปซึ่งเป็นภาพยนตร์สำหรับการบันเทิงเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ภาพยนตร์ที่มีลักษณะพิเศษบางเรื่องอาจลงทุนนับพันล้านบาทเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้แสดงและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างภาพยนตร์บางเรื่องจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เช่น
- การใช้ดาราผู้แสดงที่มีชื่อเสียง ค่าตัวสูง
- การใช้ผู้แสดงพร้อมกันนับพันนับหมื่นคน และใช้เครื่องแต่งกายที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ
- การสร้างฉากที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือยานพาหนะจำนวนมาก
- การสร้างเหตุการณ์จากของจริงที่มีการสูญเสียมากๆ เช่น อุบัติเหตุรถชน ไฟไหม้ ฯลฯ
- การสร้างเทคนิคจำลองต่างๆ
3. การแสดงที่สมจริง
การแสดงในภาพยนตร์ มีพื้นฐานมาจากแสดงละคร ผู้แสดงโดยทั่วไปมีความสามารถอย่างสูงในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ของตัวละครออกมาให้ผู้ชมเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ประกอบเทคนิคการสื่อความหมายทางด้านภาพและเสียงของภาพยนตร์ ที่ต้องอาศัยมุมกล้อง แสง การตัดต่อ การให้เสียง ได้อารมณ์ตามที่ต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความรู้สึกและเข้าใจของผู้ชม ดังนั้นการแสดงในภาพยนตร์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้สร้างภาพยนตร์มักจ้างผู้แสดงและผู้กำกับที่มีความสามารถสูง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย
4. การสร้างภาพด้วยเทคนิคพิเศษ
หมายถึงการใช้เทคนิควิธีการ หรือเครื่องมือใดๆ สร้างภาพของภาพยนตร์จากสิ่งจำลองให้เหมือนจริง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัย การประหยัด สถานการณ์ที่ในความจริงเป็นไปไม่ได้ หรือสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากกว่าใช้สถานการณ์จริง ตัวอย่างของภาพต่างๆ ที่สร้างด้วยเทคนิคพิเศษ ได้แก่ (พจนี นิราศรพ ม.ป.ท. : 138 หน้า)
4.1 ภาพแสดงความสามารถ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ เช่น ภาพยนตร์กำลังภายใน การปีนเขา ตกจากที่สูง การเหาะเหินเดินอากาศ การขับเครื่องบินผาดโผน
4.2 ภาพคนที่ถูกตกแต่ง (Makup) ให้มีหน้าตาอัปลักษณ์ รอยแผลจากอาวุธ ภาพผี การแต่งหน้าให้เป็นคนหนุ่มหรือแก่
4.3 ภาพวัตถุหรือสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลาม ยานอวกาศ ไดโนเสาร์ เรือดำน้ำ สัตว์ประหลาดต่างๆ ซึ่งความจริงเป็นเพียงรูปภาพ หรือหุ่นจำลองขนาดต่างๆ
4.4 ภาพอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ เช่น รถชน ระเบิด ไฟไหม้ น้ำท่วม เครื่องบินตก เขื่อนพัง ตึกถล่ม รถไฟตกราง ภาพฉากสงคราม
4.5 ปรากฏการธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ความแห้งแล้ง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด
ภาพต่างๆ เหล่านี้ผู้สร้างอาจใช้เทคนิค หลายแบบเช่น เทคนิคการถ่ายภาพ การแสดง การสร้างและตัดต่อภาพ เทคนิคกลไก การย่อส่วน การเมคอัพ หรือเทคนิคอื่นๆ ตามความเหมาะสม และความพร้อมของผู้สร้าง การใช้ภาพเทคนิคพิเศษต่างๆ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจเรื่อง และรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานได้มากเป็นพิเศษ
5. การสร้างจินตนาการ
เทคนิคของภาพยนตร์ สามารถสร้างเรื่องราวในลักษณะที่เป็นจินตนาการซึ่งไม่มีในความเป็นจริง เช่น ภาพยนตร์การ์ตูน เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในอนาคต เหตุการณ์ในอวกาศมนุษย์ต่างดาว สัตว์ประหลาด เรื่องราวที่เป็นจินตนาการในภาพยนตร์ บางอย่างเป็นเรื่องที่คิดขึ้นเพื่อความสนุกสนานไม่มีเหตุผลหรือความน่าเชื่อถือใดๆ แต่ภาพยนตร์บางเรื่องเป็น การสร้างจินตนาการ ที่อาศัยเหตุผลหรือหลักฐานที่ค้นพบได้ในปัจจุบัน แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความเชื่อ หรือทฤษฎีบางอย่าง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจินตนาการลักษณะใดก็ตาม มักสร้างตื้นเต้นเร้าใจ หรือทำให้ผู้ชมเกิดความคิดตามเรื่องราวของภาพยนตร์ได้เสมอ

บทบาทหน้าที่และอิทธิพลของภาพยนตร์
1. ด้านความบันเทิง
ภาพยนตร์ เป็นสื่อที่มีบทบาทด้านความขายความบันเทิงมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ แบบคิเนโตสโคบ (Kinetoscope) ของเอดิสันหรือ แบบซินเนมาโตกราฟ (Cinemato- graph) ของพี่น้องลูมิแอร์ (Lumiere) ต่างก็ฉายภาพยนตร์บันเทิงเก็บเงินจากผู้ชมมาก่อนทั้งสิ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่าร้อยปี นับตั้งแต่มีภาพยนตร์เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันภาพยนตร์ได้มีบทบาทในการให้ความบันเทิงแก่คนทั้งโลกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการนำภาพยนตร์ไปใช้สำหรับกิจการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านในระยะหลัง แต่ในด้านการบันเทิงภาพยนตร์ยังคงคุณค่าและมีความสำคัญอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชมภาพยนตร์คุณภาพดีๆ ในโรงภาพยนตร์มาตรฐาน ที่จอภาพขนาดใหญ่ ภาพคมชัด ระบบเสียงสมบูรณ์ทันสมัย ย่อมทำให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงและเกิดความประทับใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นผลมาจากคุณลักษณะพิเศษของภาพยนตร์ที่สามารถนำข้อเท็จจริงหรือสร้างจินตนาการให้เกิดความบันเทิงด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ ได้หลายแบบ เช่นทำให้เห็นสิ่งแปลกๆพิศดาร สิ่งที่ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจ หรือทำให้ดีใจ เสียใจ สะเทือนอารมณ์
จากการศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของชาวบ้าน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2521 พบว่าภาพยนตร์ประเภทบันเทิง มีผู้ชมมากที่สุดถึงร้อยละ 98 จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิงอย่างแท้จริง หากไม่นับภาพยนตร์เฉพาะกิจต่างๆ เช่นภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์การศึกษา อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ทั้งหมดที่จัดสร้างและนำออกฉายอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีจุดประสงค์ด้านธุรกิจการค้าขายความบันเทิงแทบทั้งสิ้น คุณค่าของภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องของความบันเทิงเป็นด้านหลัก ส่วนคุณค่าในด้านอื่นๆ เป็นเพียงคุณค่าแฝงที่ผู้สร้างอาจจงใจสร้างให้มีหรือไม่ก็ตาม
การที่ภาพยนตร์มีบทบาทมากด้านการให้ความบันเทิง เป็นผลให้เกิดการสร้างภาพยนตร์เพื่อการบันเทิงที่เกินขอบเขตด้านศิลธรรม จริยธรรมของสังคม เช่น ภาพยนตร์ที่แสดงออกทางเพศในลักษณะลามกอนาจาร ภาพยนตร์ที่แสดงถึงความวิตถาร ผิดปกติทางจิต อาชญากรรม การกระทำที่ชวนหวาดเสียว สยดสยอง ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้เชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อบุคคล ส่งเสริมให้เกิดความคิดและนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม จำเป็นต้องได้รับการควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
2. การเสนอข่าวและสาระทั่วไป
การเสนอข่าวโดยใช้ภาพยนตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนประเภทอื่นในปัจจุบันแล้ว ภาพยนตร์มักจะกระทำโดยล่าช้ากว่าเนื่องจากการถ่ายทำภาพยนตร์ต้องมีขบวนการล้างฟิล์ม ตัดต่อภาพ และบันทึกเสียง ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรในขณะที่วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ สามารถทำได้รวดเร็วกว่า
ในอดีตที่วิทยุและโทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย ภาพยนตร์ได้มีบทบาทสำคัญในการเสนอข่าวสาร เนื่องจากเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นได้ทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว ที่ยังไม่มีสื่ออื่นใดทำได้มาก่อน จึงทำให้ข่าวสารต่างๆ ที่นำเสนอโดยภาพยนตร์ ได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นพิเศษ แม้ว่าบางครั้งการนำเสนอข่าวสารต่างๆ เหล่านั้นเกิดความล่าช้าไป จนกระทั้งบางอย่างหมดลักษณะของความเป็นข่าว กลายเป็นประวัติศาสตร์หรือสารคดีไปแล้ว ก็ยังได้รับความนิยม เช่น ภาพยนตร์ข่าวในพระราชสำนัก ภาพยนตร์ข่าวในประเทศและต่างประเทศ ภาพยนตร์สงคราม การนำเสนอภาพยนตร์ประเภทนี้ในอดีตมักอาศัยหน่วยงานราชการ สำนักข่าวสารต่างประเทศ เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) สำนักงานข่าวสารอเมริกัน (Usis) ตระเวณไปจัดฉายภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารตามที่ต่างๆ
ในปัจจุบันที่กิจการโทรทัศน์ขยายตัวอย่างแพร่หลาย โทรทัศน์สามารถนำเสนอเสียงและภาพเคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับภาพยนตร์ แต่มีความรวดเร็วกระจายข่าวถึงประชาชนได้มากกว่า รายการภาพยนตร์จำนวนมากถูกถ่ายทอด หรือนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ การนำเสนอข่าวด้วยภาพยนตร์โดยตรงมีให้เห็นน้อยมาก จะมีบ้างก็เฉพาะในหน่วยงานทางการศึกษาและหน่วยงานที่ยังคงใช้ภาพยนตร์บันทึกข่าวสารเพื่อเก็บรักษาข่าวสารไว้นานๆ

3. ด้านการศึกษา
ด้วยคุณลักษณะที่ดีเด่นของภาพยนตร์ ที่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้ง ภาพยนตร์จึงถูกนำมาใช้เพื่อกิจการทางการศึกษาอย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปการใช้สำหรับการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมตามหลักสูตรโดยตรง และการใช้ภาพยนตร์สำหรับการศึกษาทั่วไป นอกจากนี้ภาพยนตร์ที่สร้างเพื่อจุดประสงค์ด้านการบันเทิง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีคุณค่าทางด้านการศึกษาแฝงอยู่ สามารถเลือกมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง
ลักษณะภาพยนตร์ที่จัดว่าเป็นสื่อมวลชน ได้แก่ภาพยนตร์ที่จัดสร้างและฉายในสาธารณชนได้รับชม ไม่รวมถึงภาพยนตร์เฉพาะกิจต่างๆ จุดประสงค์ของผู้สร้างและเรื่องราวในภาพยนตร์ ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความบันเทิงกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม คุณค่าทางการศึกษาของภาพยนตร์แต่เรื่อง อาจมีมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางเรื่องนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางการศึกษาแล้วยังอาจให้ผลกลับในทางตรงข้าม เช่น ทำให้เกิดความคิดค่านิยมไปในทางที่ผิด การพิจารณาภาพยนตร์แต่ละเรื่องว่ามีคุณค่าทางการศึกษาหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจพิจารณาได้จากสาระสำคัญในเนื้อหาของเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ภาพยนตร์ที่ถือว่ามีคุณค่าทางการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน เช่น
- เรื่องราวจากวรรณคดี วรรณกรรม หรือเรื่องประวัติศาสตร์
- อัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียงที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม
- การศึกษาค้นคว้าทดลองที่เป็นประโยชน์
- การใช้ภาษา และการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม
- การสะท้อนให้เห็นปัญหาของบุคคลและสังคมทั้งด้านจิตวิทยา คุณธรรม จริยธรรม
- เรื่องราวเกี่ยวกับความรู้แต่ละสาขาโดยตรงเช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่นำออกฉายสู่สาธารณชนได้ผ่านการพิจารณาแล้วว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย ซึ่งย่อมจะถือได้ว่ามีคุณค่าทางการศึกษาอยู่ไม่มากก็น้อย เพียงแต่ผู้ชมอาจไม่ทราบ แต่จะได้รับคุณค่าทางการศึกษาจากการชมภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงโดยไม่รู้ตัว ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีแนวเรื่องที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับค่านิยมทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เรื่องราวของภาพยนตร์มักจะจบลงด้วยความสมหวัง และฝ่ายธรรมชนะฝ่ายอธรรมเสมอ ภาพยนตร์บางเรื่องสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตสังคม และ การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง
4. ด้านค่านิยมของบุคคลและสังคม
ด้วยศิลปะและเทคนิคต่างๆ ในการสร้างทำให้ภาพยนตร์มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับผู้ชมได้อย่างมาก เช่น ตื่นเต้นสนุกสนาน ดีใจ เศร้า สะเทือนใจ อารมณ์หรือความรู้สึกที่เข้าถึงจิตใจในระดับลึก อันเกิดจากความประทับใจจากการชมภาพยนตร์บางเรื่องบางตอน หรือเกิดจากการที่ได้รับการกระตุ้นซ้ำจากภาพยนตร์บ่อยๆ ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อที่ฝังใจกลายเป็นค่านิยมของบุคคลและสังคมขึ้นได้
ภาพยนตร์ทำให้เกิดค่านิยมด้านต่างๆ ได้ทั้งทางดีและทางไม่ดี เช่น ค่านิยมที่ดีทางจริยธรรมได้แก่ความกตัญญู ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความสุภาพเรีบยบร้อย ความเสียสละ ความประพฤติที่ควรยกย่องตามแบบของสังคมไทย ภาพยนตร์บางเรื่องทำให้ผู้ชมเกิดความคิด ความเชื่อในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแก้แค้น การเอาตัวรอด การกอบโกยผลประโยชน์ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวในลักษณะการแสดงที่แยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิด ความดี ความชั่ว หรือคนดีคนเลว ให้เห็นอย่างชัดเจน เรื่องราวมักจะจบลงด้วยความดีชนะความชั่ว คนดีชนะคนเลว ความเชื่อหรือค่านิยมที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางที่ถูกต้อง แต่ในภาพยนตร์บางเรื่องนำเสนอเรื่องราวที่ผูกพันกับความเป็นจริงในชีวิต โดยสร้างเหตุผลหรือเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่ผู้ชมยากจะตัดสินได้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ใครดีใครเลว ความเชื่อหรือค่านิยมที่เกิดขึ้น จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบุคคล ภาพยนตร์ประเภทนี้อาจไม่เหมาะสำหรับเด็ก
ตัวอย่างของภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายทั่วไป ส่วนหนึ่งนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อัจฉา ริษยา ชิงดีชิงเด่น ซึ่งไม่ส่งเสริมค่านิยมที่ดี จนมีผู้เรียกภาพยนตร์ว่าเป็นภาพยนตร์ "น้ำเน่า" ส่วนภาพยนตร์จีนมักให้ความคิดในเรื่องการแก้แค้น แต่ก็มีค่านิยมเรื่องความกตัญญูมาชดเชย ดังคำพูดที่ได้ฟังเสมอว่า "บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ" ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมักให้เหตุผลที่ต้องสร้างภาพยนตร์ลักษณะดังกล่าวว่า เป็นความต้องการของตลาดหรือผู้ชมและมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการลงทุน แต่มีผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนหนึ่งที่พยายามสร้างภาพยนตร์แบบคุณภาพ โดยถือว่าการสร้างภาพยนตร์นอกจากจะให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงแล้วยังมีหน้าที่ในการยกระดับรสนิยม รวมถึงส่งเสริมค่านิยมของผู้ชมไปพร้อมกันด้วย
5. ด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
คุณลักษณะที่สามารถเรียกร้องความสนใจ และกระตุ้นอารมณ์ของภาพยนตร์ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งทางธุรกิจการค้าและองค์กรที่ดำเนินการด้านอื่นๆ นำภาพยนตร์ไปใช้เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนมากมาตลอด นับตั้งแต่มีภาพยนตร์เกิดขึ้น
ภาพยนตร์สำหรับการโฆษณาสินค้าและบริการ มักเป็นภาพยนตร์สั้นๆ เรียกว่า สปอต (Spot) ความยาวไม่เกิน 1 นาที ทำออกเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์และผ่านทางโทรทัศน์ แม้ว่าในปัจจุบันการผลิตภาพยนตร์โฆษณาจะสามารถใช้ Video Tape ซึ่งสร้างได้ง่ายกว่าและประหยัดกว่า แต่การโฆษณาเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูงและต้องการสื่อที่จูงใจเร้าอารมณ์ได้มากเป็นพิเศษ จึงยังคงมีการสร้างภาพยนตร์โฆษณากันอยู่อย่างแพร่หลาย เฉพาะประเทศไทยในแต่ละปีมีการลงทุนสร้างและเผยแพร่ ภาพยนตร์โฆษณาเป็นเงินนับพันล้านบาท โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ซึ่งมีปริมาณมากที่สุด
ด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการขายและการสร้างความเข้าใจที่ดีแก่ประชาชนของหน่วยงาน องค์กรทางธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีการสร้างและเผยแพร่ ภาพยนตร์เพื่อการประชา-สัมพันธ์มีอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ตัวอย่าง เช่น ภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแพร่ กรมรถไฟหลวง ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก สมัยนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภาพยนตร์ข่าวในพระราชสำนัก ภาพยนตร์ของกรมประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์ของสำนักงานข่าวสารต่างประเทศ เป็นต้น ปัจจุบันมีภาพยนตร์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น บริษัทเอกชน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักนายกรัฐมนตรี กรป.กลางกระทรวงกลาโหม ฯลฯ
ด้านการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อดึงกระแสความคิดของมวลชนให้เป็นไปในทางที่ต้องการ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ภาพยนตร์เรื่อง "บ้านพังโคน" ที่สร้างขึ้นสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นความเลวร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะในชนบทเกิดความคิด และลุกขึ้นมาช่วยกันต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาเผยแพร่ (Publicity) กิจการของหน่วยงานของทางราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนอีกจำนวนมาก
ภาพยนตร์ข่าว ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นในอดีต เนื่องจากการรายงานข่าว จะต้องทำในเวลาจำกัด ซึ่งภาพยนตร์สามารถทำได้ช้ากว่า Video Tape แต่อาจมีการถ่ายทำภาพยนตร์เหตุการณ์ต่างๆ เก็บไว้ใช้ในรูปของภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสารคดี

คุณค่าทางการศึกษาของภาพยนตร์
1. ถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ ข้อเท็จจริงในสังคม และแสดงสิ่งของต่างๆ ให้เห็นได้ชัดเจนตามความเป็นจริง ทั้งรูปร่าง ลักษณะ สี และการเคลื่อนไหว
2. ใช้เทคนิคดัดแปลง ปรุ่งแต่งให้เห็นสิ่งที่ในความเป็นจริงไม่สามารถเห็นได้ ในกรณีเช่นนี้ ภาพยนตร์จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจได้มากกว่าการเรียนรู้จากของจริง เช่น ทำให้เร็วขึ้นทำให้ช้าลง หรือการย่อ-ขยายขนาดสิ่งของ
3. ฉายภาพได้ขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้รับความรู้ข่าวสารพร้อมๆกัน
4. เทคนิคของภาพยนตร์ สามารถสร้างจินตนาการโดยอาศัยเทคนิคและการแสดง สามารถแสดงให้เห็นสิ่งที่ไม่อยู่ในชีวิตจริง เช่น เรื่องจากวรรณกรรม วรรณคดี ประวัติศาสตร์ การคาด-คะเนเหตุการณ์ในอนาคต
5. สามารถเข้าถึงจิตใจ เช่น ความรู้สึกสงสาร ความโหดร้ายและน่ากลัวของสงคราม ช่วย ให้เข้าใจเรื่องราวที่เป็นนามธรรมให้ดี ภาพยนตร์จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ถ่ายทอด เนื้อหาด้านความรู้สึก คุณธรรม จริยธรรม
8. คุณสมบัติและเทคนิคด้านต่างๆ ของภาพยนตร์ สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนาน ตื่น-เต้นเร้าใจ ติดตามชมโดยไม่เบื่อหน่าย
9. มีภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นสำหรับการศึกษา หรือการเรียนการสอนโดยเฉพาะจำนวนมาก เปิดโอกาสให้สามารถนำภาพยนตร์มาใช้สำหรับการศึกษาโดยตรง อย่างกว้างขวาง ซึ่งภาพยนตร์ประเภทนี้ มีความเหมาะสมสำหรับการศึกษาหลายประการ คือ (Dale. 1954 : 214-218)
9.1 แสดงให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวได้อย่างดีเยี่ยม
9.2 สภาพการฉายภาพยนตร์ เช่น ความมืด บังคับให้ผู้เรียนสนใจในจุดเดียวกัน
9.3 แสดงสิ่งของต่างๆ ได้เหมือนจริง
9.4 ควบคุมเวลาการสอนได้แน่นอน
9.5 นำสิ่งที่อยู่ห่างไกล เข้ามาศึกษาในห้องเรียนได้อย่างชัดเจน
9.6 จำลองเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ให้เห็นได้อย่างสมจริง
9.7 ย่อหรือขยายขนาดของวัตถุได้ตามต้องการ
9.8 แสดงให้เห็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตจริง
9.9 ผู้เรียนจำนวนมากได้รับประสบการณ์ร่วมกัน หรือเหมือนกัน
9.10 ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม
9.11 ให้ประสบการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้ดี

การสื่อความหมายของภาพยนตร์
ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในยุคแรกๆ เป็นภาพยนตร์เงียบที่สื่อความหมายด้วยฉาก และท่าทางของผู้แสดง ซึ่งก็สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวและสนใจชมอย่างตื่นเต้น โดยไม่เกิดความเบื่อหน่าย แม้ในปัจจุบัน ที่ภาพยนตร์ได้รับการพัฒนาไปมากแล้วทั้งด้านภาพและเสียง แต่เมื่อนำภาพยนตร์เงียบในอดีต กลับมาฉายดูอีกก็ยังคงน่าสนใจชวนติดตามชมอยู่เสมอ นับว่าผู้สร้างภาพยนตร์เงียบในอดีตสมควรได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีศิลปและความสามารถในการสร้างภาพยนตร์อย่างแท้จริง
ภาพยนตร์ในปัจจุบันนอกจากจะได้รับการพัฒนาทางด้านภาพแล้ว ทางด้านเสียงซึ่งได้แก่ เสียงพูดของผู้แสดง (Dialog) เสียงบรรยาย (Narration) เสียงดนตรี (Music) และเสียงประกอบ (Sound Effect) ก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน ทำให้ภาพยนตร์สามารถแสดงเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจได้กว้างขวางและลึกซึ่งมากขึ้น อย่างไรก็ตามองค์ประกอบทางด้านภาพนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด
การสื่อความหมายด้วยภาพ ของภาพยนตร์ ในอันที่จะสามารถก่อให้เกิดอารมณ์ เกิดความเข้าใจ หรือความทราบซึ้งได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบของการสร้างภาพ ซึ่งถือว่าเป็นภาษาสื่อความหมายของภาพยนตร์ เช่น เรื่องมุมกล้อง ขนาดภาพ การเคลื่อนไหว บทบาทของผู้ชม และการลำดับหรือเชื่อมต่อภาพ ผู้ชมที่เข้าใจหลักการสื่อความหมายของภาพยนตร์ จะช่วยให้เข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์ที่ชมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (สุทัศน์ บุรีภักดี 2528 : 263-313)
1. มุมกล้อง (Camera Angle)
ภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ บางครั้งผู้ชมจะเห็นว่าเหมือนได้มองจากที่สูงบางภาพเหมือนได้มองจากที่ต่ำกว่า บางภาพเหมือนมองอยู่ในระดับสายตาปกติ ภาพเหล่านี้เกิดจากการถ่ายภาพยนตร์แต่ละตอน ที่วางกล้องไว้ในระดับสูงต่ำแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ทำให้ได้ภาพที่ดูแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกต่างกันด้วย เช่น การวางกล้องไว้ระดับต่ำเพื่อถ่ายภาพของสิ่งที่อยู่ระดับสูงกว่า นอกจากจะเป็นการกระทำเพื่อแทนความเป็นจริงในบางอย่างแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่ถ่ายว่า เข้มแข็ง ยิ่งใหญ่ มีอิทธิพลมีความแข็งแรง มีอำนาจสามารถควบคุมสถานการณ์รอบตัวได้
การกำหนดมุมกล้องอีกลักษณะหนึ่งคือ การวางทิศทางของกล้องรวมถึงการเคลื่อนที่ให้อยู่ในตำแหน่งที่ทำมุมกับวัตถุ หรือผู้แสดงตามความเหมาะสม เช่น ภาพด้านหน้า ด้านหน้าเฉียง ด้านข้าง ด้านหลัง เป็นต้น ซึ่งภาพที่ตำแหน่งต่างๆ ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน
2. ขอบเขตของภาพ (Image Size)
หมายถึงการกำหนดขอบเขตของภาพให้กว้างหรือแคบ โดยใช้เลนส์ที่มีมุมรับภาพขนาดต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระยะไกลหรือใกล้ระหว่างสิ่งที่ถูกถ่ายกับกล้องด้วย การถ่ายภาพมุมกว้างหรือแคบต่างกัน สามารถสร้างความรู้สึกและทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเช่น
2.1 ภาพระยะไกล (Long shot) ถ่ายด้วยเลนส์มองกว้าง แสดงให้เห็นภาพครอบคลุมสิ่งต่างๆ เป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดความรู้สึกอ้างว้าง ไร้ทิศทาง มักใช้เป็นภาพแรกของการเปิดฉากต่างๆ เพื่อต้องการบอกสภาพของสถานที่และบรรยากาศทั่วๆ ไปก่อนที่จะเข้าไปสู่ส่วนละเอียดปลีกย่อย การกำหนดระยะ อาจกำหนดเป็น ระยะใกล้ ระยะไกล หรือระยะไกลมากก็ได้
2.2 ภาพระยะปานกลาง (Medium Shot) เป็นการบอกผู้ชมให้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เห็นกิริยาอาการ อารมณ์ ทิศทางการเคลื่อนไหวได้พอประมาณในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นสภาพทั่วไปของฉากหรือสถานที่ด้วย
2.3 ภาพระยะใกล้ (Close up) แสดงจุดเน้นให้เห็นรายละเอียดชัดเจน ผู้ชมสามารถหรือเข้าใจอารมณ์ของผู้แสดง ทั้งสีหน้า แววตา ถ้าเป็นวัตถุก็แสดงให้เห็นพื้นผิวหรือรายละเอียดอื่นอย่างเต็มที่ อาจกำหนดให้เห็นได้หลายระยะ หรือบางกรณี อาจขยายให้เห็นภาพที่มีขนาดโตกว่าปกติ
3. การเคลื่อนไหว (Movement)
ความรู้สึกต่อการเคลื่อนไหวของภาพยนตร์ อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำหลายอย่าง เช่น การเคลื่อนของกล้อง การเคลื่อนที่ของวัตถุหรือผู้แสดงรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงมุมรับภาพของเลนส์ (Zooning) แต่ที่สำคัญการถ่ายทำภาพยนตร์มักเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวกล้องลักษณะต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกและเข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น หากการเคลื่อนไหวนั้นทำได้อย่างเหมาะสม
4. การกำหนดบทบาทของผู้ชม (audience Role)
ความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อภาพแต่ละฉาก แต่ละตอน หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าสถานภาพ ของผู้ชมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งผู้ชมรู้สึกเหมือนว่าเป็นผู้แอบดูหรือเห็นเหตุการณ์อยู่ห่างๆ แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกับเป็นกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ได้ประสบชะตากรรมในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองพร้อมๆ กับตัวละครในภาพยนตร์ ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของผู้สร้างภาพยนตร์ ที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ในภาพยนตร์ ซึ่งต้องอาศัยเทคนิค ศิลปะ และความสามารถอย่างสูงของผู้สร้างภาพยนตร์ รูปแบบการกำหนดบทบาทของผู้ชมอาจทำได้ 3 ลักษณะคือ
4.1 การเสนอภาพแทนการได้เห็น (Objective shot) เป็นรูปแบบการถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ทั่วๆ ไป ไม่นำผู้ชมเข้าไปพัวพัน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มักใช้การถ่ายภาพระยะไกลและระยะปานกลาง แต่บางครั้งอาจใช้วิธีการถ่ายใกล้ให้เข้าใจเรื่องราวยิ่งขึ้นในบางตอน การเสนอภาพลักษณะนี้ จะต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้แสดงมองกล้อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับภาพยนตร์สารคดีต่างๆ
4.2 การเสนอภาพแบบให้ผู้ชมร่วมในเหตุการณ์ (Subjective Shot) ภาพประเภทนี้จะต้องอาศัย ตำแหน่ง มุมกล้อง และการเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดในลักษณะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์หรือตัวละคร โดยเฉพาะการเปลี่ยนมุมกล้องและตำแหน่งกล้องให้แทนสายตาของตัวละครเสมือนว่าตัวละครได้พูดหรือแสดงอารมณ์กับผู้ชมโดยตรง
4.3 การเสนอภาพแบบรับรู้ใกล้ชิด (Point of view shot) รูปแบบนี้ลักษณะอยู่กึ่งกลางระหว่าง Objective shot กับ Subjective shot ให้ผู้ชมรู้สึกเข้าไปอยู่ใกล้ในเหตุการณ์ แต่ไม่ถึงกับมีส่วนร่วมหรือรับผลกระทบจากเหตุการณ์ ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพผ่านหัวอะไหล่ของตัวละครคนหนึ่งไปยังตัวละครอีกคนหนึ่งที่กำลังสนทนากัน
5. การเชื่อมต่อภาพ (Scene matching)
เรื่องราวของภาพยนตร์ เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพช่วงสั้นๆ หลายครั้งแล้วนำมาเชื่อมต่อกันอย่างมีเหตุผล การชมภาพยนตร์เฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งจึงไม่อาจทำให้เข้าใจเรื่องราวโดยสมบูรณ์ ภาพที่บันทึกไว้แต่ละครั้งแม้จะได้พิถีพิถันให้สื่อความหมายของภาพได้ถูกต้องเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากมาเชื่อมต่อกันไม่ดี จะทำให้ผู้ชมเกิดความสับสนไม่เข้าใจและเบื่อหน่ายที่จะชมภาพยนตร์นั้น วิธีเชื่อมต่อภาพมีหลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ประการคือ
5.1 ตำแหน่งของตัวแสดง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขนาดภาพจะต้องให้ตัวแสดงอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ผู้ชมได้รับรู้มาก่อนหน้านั้น หากทำให้ตัวแสดงย้ายไปอยู่ทางด้านซ้ายทีหนึ่ง ขวาทีหนึ่งย่อมทำให้ผู้ชมสับสนได้
5.2 ทิศทางการเคลื่อนไหว จะต้องให้อยู่ในทิศเดิมตลอดไป
5.3 ทิศทางการมองตัวแสดง จะต้องมองไปในทิศทางเดิมเสมอ

การลำดับเรื่องราวในการสร้างภาพยนตร์
การสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ ภารกิจที่สำคัญของงานสร้างภาพยนตร์ คือการถ่ายภาพให้ได้ตามกำหนดไว้เป็นลำดับ ซึ่งในการถ่ายภาพยนตร์นั้น ไม่ได้ถ่ายภาพตามลำดับในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ แต่จะจัดถ่ายภาพตามความพร้อม และความสะดวกก่อนหลัง ภาพที่อยู่ตอนท้ายของเรื่องอาจถ่ายทำเสร็จไปก่อน หรือถ่ายทำพร้อมกับภาพที่อยู่ตอนต้นของเรื่องได้ เมื่อถ่ายทำภาพได้เสร็จสมบูรณ์ทุกตอนแล้ว จึงนำภาพของแต่ละตอนเหล่านั้นมาจัดลำดับให้ได้เรื่องราวตามที่ต้องการ ลำดับการสร้างภาพของภาพยนตร์ประกอบไปด้วย ช้อท ซีน และซีเควนซ์
การถ่ายภาพยนตร์จะถ่ายครั้งละสั้นๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งการถ่ายภาพยนตร์ครั้งหนึ่งๆ ที่ถ่ายต่อเนื่องกันโดยไม่หยุดการทำงานของกล้อง เรียกว่า ช้อท (Shot) หรือเทค (Take) หากช้อทหรือเทคใดเกิดความผิดพลาดทำให้ไม่ได้ภาพตามต้องการ จำเป็นต้องถ่ายใหม่ จะเรียกการถ่ายซ้ำว่า รีเทค (Re -Take) ลักษณะภาพของแต่ละช้อทจะใช้มุมกล้อง ขนาดภาพ และองค์ประกอบอื่นๆ แตกต่างกันตามความเหมาะสม (สุทัศน์ บุรีภักดี 2528 : 17-29)
ซีน (Scene) ในทางภาพยนตร์หมายถึงสถานที่หรือฉากที่จัดขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงหรือเพื่อการถ่ายภาพยนตร์ในแต่ละเหตุการณ์ เช่น ฉากบริเวณสถานีรถไฟ ฉากบนห้องโดยสารในรถไฟ ฉากห้องอาหาร ซีนหนึ่งๆ อาจมีความจำเป็นต้องถ่ายหลายๆ ช้อท หรือถ่ายเพียงช้อทเดียวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยูกับความเหมาะสมว่า จะต้องให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวได้เพียงพอหรือยังไม่มีข้อกำหนดว่าแต่ละซีนจะต้องมีกี่ช้อท
ซีเควนซ์ (seguence) คือช่วงเหตุการณ์หนึ่งๆ ของภาพยนตร์ เป็นการนำซีนหลายๆ ซีน ที่มีความสัมพันธ์กัน มาจัดลำดับต่อเนื่องกันเข้า ให้เกิดความสมบูรณ์ของเนื้อหาเป็นช่วงๆ ซีเควนซ์หนึ่งๆ ของภาพยนตร์อาจประกอบด้วยซีนหลายซีน หรืออาจมีซีนเดียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเรื่องราวในตอนหรือซีเควนซ์นั้นๆ
เมื่อนำซีเควนซ์ หรือตอนต่างๆ มาจัดลำดับตามเรื่องราวที่กำหนดไว้ก็จะได้เป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ดังนั้นภาพยนตร์แต่ละเรื่องจึงประกอบด้วยหลายซีเควนซ์ หากนับจำนวนซีนก็จะได้หลายสิบหลายร้อยซีน นับจำนวนช็อทก็มีจำนวนหลายร้อยหลายพันช้อท

ช่องทางการเผยแพร่ภาพยนตร์
ภาพยนตร์ในปัจจุบันมีการเผยแพร่อยู่ 4 ทางคือ ฉายตามโรงภาพยนตร์ ภาพยนตร์กลางแปลง และภาพยนตร์เร่ ถ่ายทอดลง Video Tape เผยแพร่ทางโทรทัศน์
การเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์
ช่วงปี พ.ศ. 2516 -2524 เป็นช่วงเวลาที่กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยมีการขยายตัวสูงสุด มีการผลิตภาพยนตร์ออกสู่ตลอดปีละประมาณ 120 -160 เรื่อง มีโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยทั่วประเทศกว่า 700 โรง ในจังหวัดใหญ่ๆ จะมีโรงภาพยนตร์ปรมาณ 5 -10 โรง ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ผลิตเข้าฉายอีกจำนวนมาก ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งหลังจากสร้างเสร็จแล้วต้องรอคิวที่จะเข้าฉายตามโรงต่างๆ โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จุคนได้ตั้งแต่ประมาณ 500 -1500 จัดฉายวันละ 4 -6 รอบ ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีผู้ชมภาพยนตร์เรื่องต่างๆ หลายแสนคน นับว่าโรงภาพยนตร์ในอดีต เป็นช่องทางการเผยแพร่ที่กว้างขวางมากทางหนึ่ง
หลังจากที่กิจการภาพยนตร์ซบเซาลง เนื่องจากการขยายตัวของกิจการโทรทัศน์และแถบบันทึกภาพ(Video Tape) กิจการโรงภาพยนตร์ได้ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว โรงภาพยนตร์หลายแห่งต้องเลิกกิจการไปในที่สุด จนกระทั้งถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2538) ซึ่งเวลาผ่านมาไม่น้อยกว่า 12 ปี โรงภาพยนตร์ได้เริ่มกลับสู่ความนิยมอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้เปลี่ยนสภาพจากโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในอดีต ไปเป็นโรงภาพยนตร์ ขนาดเล็ก (Mini theater) กระจายอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่บางแห่งจะมีโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กกว่า 10 โรง จุคนได้ตั้งแต่ 100 -300 คน สามารถจัดฉายภาพยนตร์พร้อมกันหลายเรื่องให้ประชาชนเลือกชมได้ตามความพอใจ ด้วยระบบเสียงที่ทันสมัย ระบบเสียงสำหรับโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ เช่น ระบบ DTS (Digital Theatre System) ระบบ SRD (Sterio Spectorial Recording Digital) และระบบ THX (Tomlinson Hoiman Experiment) โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่แต่เดิมก็ได้รับการปรับปรุง แบ่งซอยให้เป็น Mini Theater หลายโรง (ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2538 : 22-31) นับว่าโรงภายนตร์ขนาดเล็ก เป็นแหล่งบันเทิงและให้ความรู้ข่าวสาร ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในคนเมืองยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากคนในเมือง มักใช้ชีวิตหลังเลิกงานหรือในวันหยุดอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นตามเมืองหรือจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเชื่อว่าอีกไม่นานนักจะมีโรงภาพยนตร์แบบใหม่เกิดขึ้นทั่วประเทศจำนวนนับพันโรง
หนังกลางแปลงและหนังเร่
การเผยแพร่ภาพยนตร์ในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปคือการนำออกฉายโดยไม่เก็บค่าดูจากผู้ชมตามสถานที่สาธารณะต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการบันเทิงของประชาชน โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งเรียกว่า "หนังกลางแปลง" เช่น การตระเวนฉายภาพยนตร์ของบริษัทจำหน่ายยา หรือสินค้าอื่นๆ ซึ่งเรียกกันติดปากว่า "หนังขายยา" การฉายภาพยนตร์ในงาน หรือเทศกาลต่างๆ การฉายภาพยนตร์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่างๆ เป็นต้น
ธุรกิจภาพยนตร์อีกแบบหนึ่งเรียกว่า "หนังเร่" คือการตระเวนจัดโรงภาพยนตร์ชั่วคราว ฉายภาพยนตร์และเก็บค่าดูจากผู้ชม ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามท้องถิ่นชนบทห่างไกลที่ไม่มีโรงภาพยนตร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ตามอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านได้รับชม ภาพยนตร์ที่จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ แม้จะจุดประสงค์ด้านการบันเทิง เพื่อธุรกิจการค้าหรือผลประโยชน์ของผู้จัดฉายโดยตรง แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งย่อมถือได้ว่า เป็นวัฒนธรรมของการเผยแพร่ ศิลป และความรู้ข่าวสาร อีกทางหนึ่ง
แถบบันทึกภาพ(Video Tape)
ประมาณ พ.ศ. 2524 Video Tape ระบบ VHS ได้รับความนิยมแพร่หลายในประ เทศไทยและปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจการโรงภาพยนตร์ เนื่องจากผู้คนหันมาใช้ Video Tape สำหรับการบันเทิงในที่พักอาศัยแทนการเดินทางออกไปชมภาพยนตร์ ตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ธุรกิจเกี่ยวกับ Software ประเภท Video Tape เติบโตเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว มีร้านค้าจำหน่ายและบริการให้เช่า Video Tape เกิดขึ้นทั่วไป ผู้ผลิตภาพยนตร์ส่วนหนึ่ง หันมาผลิตภาพยนตร์รูปแบบใหม่ ที่ใช้ระบบ Video Tape สำหรับการถ่ายทำ แล้วนำออกมาเผยแพร่ทางวิทยุโทรทัศน์ หรือเผยแพร่ด้วย Video Tape โดยตรง แต่การผลิตภาพยนตร์แบบเดิมที่ใช้ฟิลม์สำหรับการถ่ายทำก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ลดจำนวนลงบ้างในระยะแรก
เนื่องจากระบบการแสดงภาพของ Video Tape ซึ่งต้องอาศัยเครื่องรับโทรทัศน์ยังไม่สามารถพัฒนาให้มีความคมชัดและขยายภาพให้มีขนาดใหญ่ได้เหมือนภาพยนตร์ และยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังพึงพอใจกับภาพยนตร์ที่จอกว้าง และภาพคมชัดกว่า การผลิตภาพยนตร์จึงยังคงมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาเทคนิคทั้งด้านภาพและเสียงเรื่อยมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจภาพยนตร์ คือการจำหน่ายเผยแพร่ ซึ่งแต่เดิมมีเฉพาะการจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ และจัดฉายแบบหนังกลางแปลงหรือหนังเร่ ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ โดยถ่ายทอดต้นฉบับจากฟิลม์ภาพยนตร์ ลงใน Video Tape และการบันทึกแบบอื่นเช่น เลเซอร์ดิสก์(Laser Disc) เปิดโอกาสให้ประชาชนนำไปใช้ได้โดยสะดวก Video Tape จึงกลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับการเผยแพร่ภาพยนตร์ รวมทั้งข่าวสาร การบันเทิงอื่นๆ ที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องถูกถ่ายทอดและนำออกจำหน่ายเผยแพร่ทาง Video Tape ภายหลังที่เลิกฉายในโรงภาพยนตร์ไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งถือเป็นกฏกติกาสำหรับความอยู่รอดของภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์จะนำออกมาเผยแพร่ทาง Video Tape หรือทางโทรทัศน์ได้ ต้องมีระยะเวลานานพอสมควรหลังจากฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่ในทางปฏิบัติยังมีการละเมิดอยู่เสมอ
การเผยแพร่ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์
การจำหน่ายเผยแพร่เพื่อหารายได้สำหรับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง นอกจากจะนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ วิดีโอเทป เลเซอร์ดิสก์ และสายหนังเร่ หนังกลางแปลงแล้ว ยังมีการนำออกเผยแพร่ทางวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงเคเบิลทีวี อย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน พร้อมกับการเจริญเติบโต ของกิจการโทรทัศน์รูปแบบต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์จากต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการเผยแพร่ภาพยนตร์ไปสู่ประชาชนได้มากที่สุด เนื่องจากกิจการโทรทัศน์ในปัจจุบันมีการพัฒนาและได้รับความนิยมอย่างสูง สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง สามารถออกอากาศกระจายได้ทั่วประเทศ และมีการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจการค้าอย่างสูง ด้านประชาชนผู้รับรายการทั่วไปในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามีเครื่องรับโทรทัศน์แทบทุกครัวเรือน
ภาพยนตร์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ส่วนมากเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ออกจากโรงภาพ-ยนตร์ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์จึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับประชาชนที่ไม่ได้ชมตามโรงภาพยนตร์ แม้ว่าจำนวนผู้ชมที่มีจำนวนมากจะไม่ทำให้ผู้จัดฉายหรือเจ้าของภาพยนตร์มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งก็มีอิทธิพลทางการโฆษณาให้ประชาชนซื้อสินค้า หรือชักจูงให้ติดตามชมภาพยนตร์เรื่องอื่นตามโรงภาพยนตร์ จึงเป็นการเพิ่มรายได้ของธุรกิจภาพยนตร์ทางอ้อม ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งที่เคยนำออกมาฉายทางโทรทัศน์ไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจนำมาออกอากาศซ้ำอีกในวันเวลาใหม่ จึงเปิดโอกาสสำหรับการชมภาพยนตร์ของประชาชนได้มากขึ้น
สำหรับปัจจุบัน(พ.ศ. 2538) ภาพยนตร์ไทยมีออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์มีจำนวนลดลงเพียงประมาณ 3-5 เรื่องต่อสัปดาห์ ตลอดปี 2537 มีภาพยนตร์ไทยออกอากาศทางโทรทัศน์รวมทั้งสิ้น 167 เรื่อง ในขณะที่ภาพยนตร์จากต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์ฝรั่ง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มีออกอากาศเป็นจำนวนมากหลายเท่าตัว โดยเฉพาะภาพยนตร์จีน และภาพยนตร์ฝรั่งซึ่งมีจำนวนมากไม่แพ้กัน(ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2538 : 22-31)

ภาพยนตร์ในปัจจุบัน
ภาพยนตร์ไทย
นับตั้งแต่มีการสร้างภาพยนตร์โดยคนไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2537 มีภาพยนตร์ไทยถูกทะยอยสร้างออกมารวมแล้วมากกว่า 4,000 เรื่อง ในภาพยนตร์จำนวนมากมายเหล่านี้ย่อมมีอยู่จำนวนไม่น้อย ที่จัดว่าเป็นภาพยนตร์คุณภาพนอกเหนือไปจากคุณค่าเพียงด้านการบันเทิง ใน ปี พ.ศ. 2536 นิตยสารฟิล์มวิว ได้รวบรวมประมวลความคิดเห็นความประทับใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยจากบุคคลต่างๆ ทั้งคนที่อยู่ในฐานะผู้สร้าง ผู้วิจารณ์ และผู้เก็บรักษา เพื่อคัดเลือกภาพยนตร์ที่มีอายุย้อนไปไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยให้เวลาช่วยกลั่นกรองชั้นหนึ่งก่อน และจะต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีการเก็บรักษาไว้ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำภาพยนตร์ที่มีคุณค่าเหล่านี้มาศึกษาคันคว้าได้ ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่คนประทับใจและอยู่ในความทรงจำรวบรวมได้ทั้งหมดเพียง 142 เรื่อง ที่ได้รับคะแนนนิยมจากบุคคลต่างๆ สูงที่สุดจำนวน 20 เรื่องตามลำดับคือ (ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2538 : 17-33)
1) ทองพูน โคกโพธิ์ (2520) 9) มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
2) แผลเก่า (2520) 10) มือปืน (2525)
3) ลูกอีสาน (2525) 11) ความรักครั้งสุดท้าย(2518)
4) ชู้ (2515) 12) คนภูเขา (2522)
5) น้ำพุ (2526) 13) เขาชื่อกานต์ ( 2516)
6) ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) 14) เทพธิดาโรงแรม (2517)
7) ตลาดพรหมจารี (2515) 15) เรือนแพ (2516)
8) วัยอลวน (2519) 16) โทน (2513)
17) เมืองในหมอก (2520) 19) เงินเงินเงิน (2509)
18) ชีวิตบัดซบ (2519) 20) ละครเร่ (2524)
ภาพยนตร์จากต่างประเทศ
การสร้างภาพยนตร์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ในยุโรปและอเมริกา มีการผลิตภาพยนตร์จำนวนมากออกจำหน่ายเผยแพร่ทั่วโลก และส่วน ใหญ่ได้รับการยอมรับว่า มีคุณภาพสูงเป็นมาตรฐาน ศูนย์กลางของการสร้างภาพยนตร์ ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ Hollywood รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาพยนตร์ต่างประเทศส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาฉายในประเทศไทย จะมาจากแหล่งนี้
จากสถิติภาพยนตร์ ที่ออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดปี 2537 มีจำนวนทั้งสิ้น 334 เรื่อง ในจำนวนนี้ เป็นภาพต่างประเทศถึง 257 เรื่อง เป็นภาพยนตร์จีน 123 เรื่อง ภาพยนตร์ฝรั่ง 154 เรื่อง มีภาพยนตร์ไทยออกฉายเพียง 57 เรื่อง (ชมรมวิจารณ์บันเทิง 2538 : 17-20) จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์ต่างเทศ ได้เข้ามามีบทบาทต่อการรับรู้ข่าวสารของคนไทยอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งข่าวสารที่มีคุณค่าทางการศึกษาสำหรับคนไทย หรืออาจเป็นข่าวสารที่ทำให้เกิดความเสียหายบางอย่างก็ได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการเลือกภาพยนตร์ที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมของคนไทย นอกเหนือจากความต้องการทางด้านบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว
ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับยกย่องว่า มีคุณค่าทั้งในด้านความบันเทิง และสาระ ความรู้ มีอยู่เป็นจำนวนมาก จากการพิจารณาภาพยนตร์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ (The National Film Registry) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่ง ของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ได้คัดเลือกภาพ-ยนตร์ที่มีคุณค่าทางด้าน ศิลป วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของคนอเมริกัน เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ ผลการคัดเลือกครั้งหลังสุดประกาศเมื่อปลายปี 2537 มีภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 20 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้หลายเรื่องยังสามารถหาชมได้ในประเทศไทย ( "25 หนังที่ได้รับการอนุรักษ์ของคนอเมริกัน" 2538 : 64-66) รายชื่อภาพยนตร์ 25 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือก เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

1 The Afarican Queen (1951) 2 The apartment (1960)
3 The cool World (1963) 4 A corner in Wheat (1909)
5 E.T. The Extra-Terrestrial (1982) 6 The Exproits of Elaine (1914)
7 Force of Evil (1948) 8 Freaks (1948)
9 Hell's Hinges (1916) 10 Hospital (1970)
11 Invasion of the Body Snatcher (1956) 12 The lady Eve (1941)
13 Louisiana Story (1948) 14 The Manchurian Candidate (1962)
15 Marty (1955) 16 Meet Me in st. Loui (1944)
17 Midnight Cowboy (1969) 18 A Movie (1958)
19 Pinocchio (1940) 20 Safty Last (1923)
21 Scarface (1933) 22 Snow White (1931)
23 Tabu (1931) 24 Taxi Diver (1976)
25 Zapruder film (1963)

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ในยุคหลัง ที่มีชื่อเสียงใประเทศไทย และได้รับยกย่องว่ามีคุณค่าในด้านต่างๆ อีกหลายเรื่อง เช่น Jurassic Park (1993) Star Wars (1977) Home Alone(1990) The Little Budha(1993) The Lion King(1994) Jaws (1975) Beauty and the Beast(1991) ฯลฯ

สภาพการใช้ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา
ศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ได้กล่าวถึงสภาพการใช้ภาพยนตร์เพื่อการศึกษาในปัจจุบัน (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ 2534 : 8) โดยสรุปว่า
ปัจุจบันโรงเรียนไม่สามารถควบคุมการดูภาพยนตร์ของนักเรียนได้ทั่วถึง ภาพยนตร์บางเรื่องไม่เหมาะสมที่จะนำมาฉายให้นักเรียนดู ครูมักจะบอกกล่าวแก่นักเรียนว่า ไม่ควรดูภาพยนตร์เรื่องนั้น การกระทำเช่นนี้แทนที่จะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้นักเรียนดู กลับเป็นการยั่วยุให้นักเรียนอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามโรงเรียนทั่วไปก็ไม่สนับสนุนให้นักเรียนดูภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่โรงเรียนก็ไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะห้ามไม่ให้นักเรียน ดูภาพยนตร์ แม้ว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุนให้นักเรียนดูภาพยนตร์ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องราวส่วนมาก เป็นเรื่องของการบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ แต่โรงเรียนก็อยากให้นักเรียนชมภาพยนตร์ที่มีประโยชน์อยู่บ้างเป็นบางเรื่อง โดยวิธีการแนะนำให้นักเรียนไปดูภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป หรืออาจร่วมมือกับเจ้าของโรงภาพยนตร์ จัดรอบการฉายขึ้นมาเป็นพิเศษ แล้วให้นักเรียนไปชมภาพยนตร์พร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ หรือโรงเรียนบางแห่งอาจนำภาพยนตร์เรื่องที่ว่ามีคุณค่าทางการศึกษา เข้ามาฉายให้ชมภายในโรงเรียน
โรงเรียนทั่วไปมักตั้งข้อรังเกียจภาพยนตร์ ซึ่งผลิตโดยสื่อมวลชน แต่ระบบการศึกษาก็มองเห็นคุณค่าของภาพซึ่งเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้ ดังนั้นองค์กรทางการศึกษาจึงผลิตภาพยนตร์ขึ้นมาใช้เพื่อประกอบการสอนโดยเฉพาะ ภาพยนตร์ซึ่งระบบการศึกษาผลิตขึ้นนั้นส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพไม่ดี คือ ไม่ชวนให้เกิดความสนุกในการเรียน ข้อบกพร่องของภาพยนตร์ที่หน่วยการศึกษาผลิตขึ้นนั้น มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาพยนตร์แต่ละเรื่องบรรจุเอาเนื้อหาไว้มากจนผู้ดูรับไม่ไหว ไม่มีอำนาจดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้มากเท่ากับภาพยนตร์ ที่ฉายอยู่ตามโรงภาพยนตร์
ปัจจุบันผู้ผลิตภาพยนตร์อาชีพ ได้จัดทำภาพยนตร์เพื่อการศึกษาออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เหล่านั้นส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในแง่ของการถ่ายทำ แต่เนื้อหาก็มักไม่เป็นที่สอดคล้องกับความต้องการของครู เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะครูต้องการให้ภาพยนตร์อธิบายส่วนต่างๆ ของเรื่องนั้นๆ อย่างละเอียด แต่ผู้ทำภาพยนตร์อาชีพกลับนำแต่เนื้อหาที่น่าสนใจ หรือน่าตื่นเต้นออกมาให้นักเรียนดู ถึงแม้ว่าผู้ถ่ายทำภาพยนตร์จะเชิญนักการศึกษาไปเป็นที่ปรึกษาในเชิงวิชาการมากขึ้น แต่ความขัดแย้งในเชิงความคิดก็ยังมีอยู่ ถึงอย่างไรก็ตามความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายก็ทำให้แนวโน้มการทำภาพยนตร์เพื่อการศึกษาดีขึ้น สามารถพัฒนาการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษาให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของโรงเรียนมากขึ้น
สรุป
ภาพยนตร์ เป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทสำคัญด้านการบันเทิง การให้ข่าวสาร การศึกษา และการปลูกฝังค่านิยมแก่ประชาชนมาเป็นเวลานาน กิจการภาพยนตร์ในอดีตมีความเจริญก้าวหน้า และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแพร่หลายถึงขีดสูงสุด แต่ในช่วงเวลาประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ความนิยมในภาพยนตร์ลดลง เนื่องจากการขยายตัวของวิดีโอเทป และโทรทัศน์ ปัจจุบันภาพยนตร์ได้รับการพัฒนาด้านการสร้าง และเปลี่ยนแปลงเทคนิคในการเผยแพร่ จากการเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่มาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ ตามโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่ปรับปรุงระบบเสียงและระบบการฉายให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนที่ต้องอาศัยการลงทุนสร้างค่อนข้างสูง มีเทคนิคในการสร้างที่ พิศดาร สามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และจำลองให้เหมือนจริง หรือสร้างภาพจากจินตนาการเพื่อจูงใจผู้ชมให้เกิดความรู้สึกตามเรื่องราวของภาพยนตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านความสนุกสนาน ความตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ หรือสะเทือนใจ เทคนิคการสื่อความหมายของภาพยนตร์ ได้แก่ การกำหนดลักษณะของภาพ การเคลื่อนไหว การลำดับภาพ และการใช้เสียงประกอบ ทำให้ภาพยนตร์สามารถสร้างความรู้สึกและเข้าใจเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้ง
การเผยแพร่ภาพยนตร์อาศัย 4 ช่องทาง คือ การฉายประจำตามโรงภาพยนตร์ การฉายตามสถานที่อื่นๆ การเผยแพร่ทางโทรทัศน์ และการเผยแพร่ทางเทปหรือแผ่นบันทึกภาพ ภาพยนตร์ในปัจจุบันมีการสร้างและเผยแพร่สู่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายด้านธุรกิจการค้าขายความบันเทิง ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งมีเนื้อหาสาระที่มี คุณค่าต่อการศึกษาของประชาชน
ภาพยนตร์ที่นำออกฉายอยู่ในประเทศไทย มีทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์จากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์จากต่างประเทศ เนื้อหาเป็นเรื่องเพื่อความบันเทิงแทบทั้งสิ้น แต่ละเรื่องอาจแฝงคุณค่าทางการศึกษา มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป การใช้หรือการชมภาพยนตร์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา จึงต้องพิจารณาเลือกให้รอบคอบ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย